ยางคือชีวิต เรื่องของลมยางที่เหมาะสมกับการใช้งาน

  • ใส่ใจยางรถยนต์ให้มากกว่าเดิม เพราะหลายอุบัติเหตุยานยนต์เกิดขึ้นได้มีเหตุมาจากล้อนี่แหละ
  • อายุการใช้งานของยางเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี
  • เติมลมยางเผื่อไว้ขนยางแข็งเกินไป ทำให้หน้ายางสึกเฉพาะตรงกลาง เมื่อถูกของมีคมบาดหรือกระแทกเข้ากับของแข็งแรงๆ อาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ง่าย

ความผิดปกติที่ตามมาด้วยอุบัติเหตุขณะใช้รถยนต์ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความเอาใจใส่ยางรถ ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน การขับหรือเลือกใช้ยางที่ผิดวิธี ทำให้อายุของยางหดสั้นลง การโหลดที่ขาดการปรับแต่งช่วงล่างอย่างถูกต้อง ทำให้ยางสึกเฉพาะด้านหน้าของหน้ายาง ซึ่งเมื่อเกิดการสึกของหน้ายางแบบผิดปกติจะส่งผลไปถึงการสึกหรอของดอกยางอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลลัพธ์โดยตรงไปที่การบังคับควบคุม หรือแม้แต่การเบรก

สาเหตุที่ทำให้ดอกยางสึกในรูปแบบที่ผิดปกติ
สภาพรถยนต์ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบรองรับ หรือช่วงล่างที่ไม่ปกติ
ศูนย์ล้อและมุมของล้อ
การใช้แรงดันลมยางที่ไม่ถูกต้อง
สภาพการขับขี่ (ชอบนำรถไปดริฟต์เล่น)
สภาพผิวถนนที่ใช้งานเป็นประจำ

การเติมลมยาง

ยางรถยนต์แต่ละแบบ แต่ละขนาด มีการสูบลมที่ใช้แรงดันตามค่าท่ีถูกต้อง หรือค่าที่ระบุมาจากบริษัทผู้ผลิตยาง แรงดันลมยางผกผันแตกต่างกันออกไปตามประเภทของการใช้งานและขนาดของยางที่มีความหลากหลาย การเติมลมยางให้ถูกต้องเหมาะสมกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือบริษัทยางกำหนดมาให้ หรือตามคู่มือประจำรถ ในขณะขับใช้งานจริง แรงดันลมยางที่ถูกต้องเหมาะสม ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขับขี่เป็นหลัก ซึ่งอาจแตกต่างจากค่าที่กำหนดบ้างแต่ไม่มาก เพราะการกำหนดค่านั้นออกมาในลักษณะกลางๆ ครอบคลุมการใช้งาน แต่ไม่ค่อยมีความแม่นยำ ผู้ขับควรเริ่มจากแรงดันลมยางตามที่บริษัทกำหนด โดยจับอาการของพวงมาลัยและลักษณะของการตอบสนองของช่วงล่าง โดยทดลองเพิ่มหรือลดแรงดันลมยางตามที่กำหนดครั้งละ 1-2 ปอนด์ มากน้อยตามความพอใจ จับอาการของการสึกหรอ อาการกระด้าง เร่งแล้วหนืด วิ่งความเร็วสูงแล้วเสียงดัง รวมถึงหน้ายางมีการสึกที่สม่ำเสมอกันหรือไม่

การเติมลมยาง ควรเติมลมในขณะที่ยางยังคงมีอุณหภูมิต่ำ หากวิ่งมาไกล จะทำให้ยางมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเมื่อเติมลมเข้าไป จะทำให้ไม่ได้ค่าของแรงดันที่ถูกต้องเหมาะสม อาจทำให้เวลาวัดแรงดันลมยางหลังจากเติมแล้ว มีความผิดเพี้ยนไปจากค่ามาตรฐาน


หลักการสังเกตง่ายๆ เกี่ยวกับแรงดันลมยางก็คือ ยิ่งเติมมาก หรือยิ่งมีแรงดันลมยางมาก ยางจะกระด้าง หน้ายางส่วนกลางสึกเร็วกว่า แต่ไม่หน่วงในการเร่งความเร็ว ส่วนแรงดันลมยางอ่อนนั้น หน้ายางจะสึกที่ขอบทั้งสองข้างมากกว่าจะสึกหรอตรงกลางหน้ายาง มีการหน่วงเมื่อเร่งความเร็ว และมีการกระด้างน้อย หรือไม่พบการกระด้าง สาเหตุที่บอกว่าค่ามาตรฐานของแรงดันลมยางที่ระบุมาจากบริษัทเป็นค่ากลางๆ ที่ผกผันได้นั้น หลายท่านเชื่อว่าค่าที่กำหนดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในความเป็นจริงแล้วผู้ผลิตรถยนต์แม้จะทราบการกระจายน้ำหนักและขนาดของยางแล้ว แต่ไม่ทราบว่ายางที่ใช้จริงนั้นมีโครงสร้างอย่างไร มีน้ำหนักบรรทุกจริงเท่าไร สภาพผิวถนนในขณะที่วิ่งเป็นอย่างไร ตลอดจนลักษณะของผู้ขับ ว่าขับรถในลักษณะใด เช่น ขับช้า ขับเร็ว เปลี่ยนทิศทาง หรือใช้เบรกอยู่ตลอดเวลา

สำหรับคนที่มีความรู้สึกไม่ไวพอที่จะจับความรู้สึกของยางในระดับของแรงดันที่อาจสูงหรือต่ำกว่าค่ามาตฐานเล็กน้อย การเติมลมยางก็เพียงแค่เติมในขณะที่ยางไม่ร้อน หรือรีบหาจุดเติมลมที่ใกล้ที่สุดก่อนท่ีลมยางเก่าจะขยายตัวจากการวิ่ง ค่าแรงดันลมยางในระดับมาตรฐานตามที่กำหนดมาจากโรงงานก็มีความเพียงพอต่อการขับใช้งานรถยนต์ของคุณ อย่างที่บอกว่าการวัดและเติมลมยางนั้นควรกระทำในขณะที่ยางยังคงเย็นตัว หรือขับใช้งานไปไม่ไกล หรือในขณะที่จอดอยู่ที่บ้าน หากวัดแรงดันลมยางในขณะที่ยางร้อน หรือวิ่งมาไกลมากแล้ว ค่าแรงดันลมยางที่วัดได้อาจผิดเพี้ยนไปจากค่าที่แท้จริง จากสาเหตุของความร้อนและแรงดันที่ผกผันกันไป

หากจำเป็นจะต้องวัดและเติมลมในขณะที่ยางร้อน แรงดันที่วัดได้จะเกินค่ามาตรฐานไป 1-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของยางในขณะที่ทำการวัดค่าแรงดัน สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้วัดแรงดันลมยางส่วนใหญ่ที่พบเห็นตามปั๊มน้ำมัน รวมถึงอุปกรณ์วัดลมยางราคาถูกนั้นมีค่ามาตรฐานที่คลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร ชุดวัดแรงดันลมยางดีๆ จะช่วยให้การวัดได้ค่าที่แท้จริง ควรเติมแรงดันลมยางให้มีความเหมาะสมกับสภาพถนนและการขับใช้งาน เช่น เมื่อขับด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องบนไฮเวย์ในสภาพการขับทางไกล หรือบรรทุกสัมภาระมาเต็มพิกัด ควรเติมลมยางให้มากกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด 2-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เพื่อควบคุมให้ยางบิดตัวน้อยลง ความร้อนในการขยายตัวจะได้ไม่มากเมื่อขับด้วยความเร็วสูง


ในกรณีที่ขับเดินทางไกล นักขับบางคนเข้าใจว่าต้องลดแรงดันลมยางจากค่ามาตรฐานเป็นการเผื่อเอาไว้ จะช่วยเพิ่มความนุ่นนวล โดยไม่ทราบความจริงว่า ยางที่ลมยางอ่อนจะมีการบิดตัวและทำให้เกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว เมื่อลมภายในยางก็ร้อน และเมื่อร้อนก็ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้แรงดันเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วการเพิ่มของแรงดันสำหรับยางลมอ่อน จะมากกว่ายางที่เติมลมจนแข็ง เช่น ปกติ 30 ปอนด์ แต่ยางที่มีแรงดันลม 28 ปอนด์ เมื่อร้อนมันจะเพิ่มแรงดันอีก 20% คือ 5.6 ปอนด์ รวมเป็น 33.6 ปอนด์ ในขณะที่ยางถูกเติมลมเผื่อไว้ที่ 32 ปอนด์ เมื่อร้อนแรงดันจะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 5% รวมเป็น 33.6 ปอนด์ แม้จะเท่ากันกับยางที่ลดแรงดันลมเอาไว้ แต่ยางและลมภายในของยางที่ทำการลดแรงดันยางจะมีอุณหภูมิสูงมากกว่ายางที่เติมลมเผื่อเอาไว้ก่อนออกเดินทางไกล ยางที่เติมลมน้อยกว่าค่ามาตรฐาน เมื่อขับด้วยความเร็วสูง ยางจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสระเบิดหรือทำให้โครงสร้างภายในเสียหายมากกว่ายางที่เติมลมเผื่อก่อนวิ่งทางไกล

บนถนนที่เปียกลื่น ยางที่มีแรงดันลมอ่อนจะยึดเกาะได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะหน้ายางตัดหรือรีดน้ำได้ไม่ดีเท่ากับยางที่มีแรงดันปกติ ควรตรวจสอบแรงดันลมยางเป็นประจำอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง (ตรวจวัดแรงดันในขณะที่ยางยังคงเย็นตัว) ผลกระทบจากความไม่ถูกต้องของแรงดันลมยาง นอกจากจะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ยังเกิดการสึกหรอที่ขอบยางอีกด้วย ลมยางอ่อน ตามมาด้วยการสึกหรอของหน้ายางบริเวณแก้มหรือไหล่ยาง ทำให้แก้มยางทำงานหนักมากจนเกินไป ส่งผลไปถึงโครงสร้างภายในของยาง อาจทำให้แก้มยางบวม ประสิทธิภาพในการยึดเกาะผิวถนนลดลง ทำให้พวงมาลัยหนัก ยากต่อการหักเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง จากแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อลมยางอ่อน ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยใช่เหตุ

ในทางกลับกันเมื่อลมยางแข็งมากจนเกินไป จะทำให้หน้ายางสึกเฉพาะตรงกลาง เมื่อถูกของมีคมบาดหรือกระแทกเข้ากับของแข็งแรงๆ อาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ง่าย ในส่วนของการขับขี่จะมีอาการกระด้างมากยิ่งขึ้น ช่วงล่างหรือระบบรองรับต้องทำงานหนักขึ้น เกิดความกระด้างในระบบรองรับ ข้อควรสังเกต ยางล้อโตแก้มเตี้ยที่นิยมใส่กันอยู่ในขณะนี้ ควรเติมลมให้ยางแข็งอยู่ตลอดเวลามากกว่าจะขับด้วยลมที่อ่อนมากกว่าปกติ แก้มที่เตี้ยเพียง 45/35 หรือแม้แต่ 30 ในล้อขอบ 19 นิ้วบางรุ่นต้องมีแรงดันลมยางเกินค่ามาตรฐานนิดๆ เผื่อไว้เวลาขับตกหลุม หากลมยางอ่อนแรงกระแทกเมื่อขับตกหลุมจะทำให้ล้อวงนั้นคดหรือดุ้งได้ทันที ตามด้วยปัญหาลมรั่วจนขับต่อไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนยางอะไหล่สถานเดียว

การดูแลรักษายาง

ตรวจสอบยางทุกครั้งก่อนออกเดินทาง แก้มยาง ร่องดอกยาง อาการบวมที่ข้างแก้มหรือหน้ายาง การแตกลายงาในทุกส่วนของยาง แสดงว่ายางไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานแล้ว อายุการใช้งานของยางเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 กิโลเมตร หรือ 3 ปี หากเกิดการฉีกขาดที่แก้มลึกจนถึงผ้าใบ ควรเปลี่ยนยางใหม่สถานเดียว ไม่ควรซ่อมแล้วนำกลับมาใช้งานอีก เพราะแก้มยางคือจุดที่ต้องรับน้ำหนักของตัวรถที่กดทับลงมา รวมถึงมีการบิดตัวไปมาขณะขับขี่ อาจเกิดการระเบิดได้เมื่อมีการฉีกขาด

เมื่อรถเสียและต้องถูกลากจูงเป็นระยะทางไกลๆ ควรเติมลมยางเผื่อไว้อีก 3-4 ปอนด์จากค่ามาตรฐานที่กำหนดมาจากโรงงาน

ตรวจสอบการสึกของร่องดอกยางว่าถึงระดับที่ควรจะต้องเปลี่ยนยางชุดใหม่หรือยัง ระดับของความลึกในร่องยางไม่ควรน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร หากน้อยกว่านั้น ยางที่ไม่มีดอก หรือยางหัวโล้นจะอันตรายมากเมื่อนำมาใช้งานท่ามกลางฝนตกหนัก ถนนมีผิวที่ลื่น หรือมีน้ำท่วมขังผิวถนน

หาเหล็กเส้นเล็กๆ ไว้คอยเขี่ยแงะเอาหินหรือเศษกรวดออกจากร่องดอกยาง เศษหินเศษกรวดเหล่านี้เป็นตัวการที่จะคอยทิ่มแทงเนื้อยางทำให้เกิดความเสียหาย.

ขอขอบคุณบทความ และภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/auto/tips/2159080